เจ้าของผลงาน
วงศกร บุญกาญจน์ พบ.,วว. อายุรศาสตร์โรคไต กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช
บทนำ
การล้างไตทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis: PD) มีการใช้กันมาเป็นระยะเวลานานทั้งในผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายและผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันที่ต้องได้รับการประคับประคองด้วยการบำบัด ทดแทนไต การล้างไตทางช่องท้องเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยากเริ่มด้วยการใส่สายซิลิโคนไว้ในช่องท้องอย่างถาวร เพื่อใช้เป็นช่องทางในการผ่านเข้าออกของน้ำยา PD หลังจากนั้นจึงค่อยเริ่มกระบวนการฟอก ซึ่งทำโดยการใส่น้ำยา Peritoneal dialysis เข้าไปในช่องท้อง ทิ้งค้างเอาไว้ 4-6 ชั่วโมง เพื่อให้น้ำยาฟอกเอาของเสียที่มีปริมาณมากและน้ำส่วนเกินในร่างกายออก เพื่อให้การล้างไตทางช่องท้องทำหน้าที่ทดแทนไตได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและมีความปลอดภัยนอกจากต้องฟอกให้ถึงเป้าหมายการขจัดของเสียแล้ว ยังต้องเฝ้าระวังและดูแลแก้ไขปัญหาแทรกซ้อนอันเกี่ยวเนื่องกับการทำ PD ด้วย ซึ่งบางปัญหาอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยต้องล้มเลิกการทำ PDและมักเกิดจากภาวะแทรกซ้อนทางกายวิภาคของการล้างไตทางหน้าท้อง ดังแสดงตารางที่ 1 ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึง ภาวะบวมของผนังช่องท้องและการรั่วของสายรอบสาย Tenckhoff (pericatheter leak) เป็นหลัก