การพัฒนาระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งช่องปากในจังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างครบวงจร และเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยมะเร็งช่องปากของเขตสุขภาพที่ 11
เจ้าของผลงาน :
นางกิ่งเกศ อักษรวงศ์ ตําแหน่ง ทันตแพทย์ชํานาญการพิเศษ หน่วยศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล กลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช
บทนําและวัตถุประสงค์ โรคมะเร็งนับว่าเป็นโรคที่ร้ายแรงและเป็นปัญหาที่สําคัญทางสาธารณสุขของประเทศไทย เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับที่ 1 สูงกว่าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและโรคหัวใจ จากการสํารวจในปี พ.ศ.2552 พบว่าผู้ป่วยรายใหม่ ปีละ 60,000 ราย มีแนวโน้มว่าจํานวนผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปากในประเทศไทยจะเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ ปี พ.ศ.2556 พบผู้ป่วยรายใหม่ 100,000 ราย มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งประมาณ 60,000 ราย พบผู้ป่วยมะเร็งช่องปากรายใหม่สูง เป็นอันดับที่ 4 ในผู้ชาย คิดเป็นร้อยละ 9 ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมดและพบผู้ป่วยมะเร็งช่องปากรายใหม่สูงเป็นอันดับที่ 8 ในผู้หญิง คิดเป็นร้อยละ 3 ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด หรือเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 6 ในทั้ง 2 เพศ จํานวนผู้ป่วยมะเร็งช่องปากในจังหวัดนครศรีธรรมราชมีสถิติใกล้เคียงกับข้อมูลสถิติของประเทศคือคิดเป็นประมาณ ร้อยละ 6 ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด และจากการสํารวจพบว่ามีจํานวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยผู้ป่วยในจังหวัดนครศรีธรรมราชส่วนใหญ่มาพบทันตแพทย์หรือแพทย์ เมื่อเกิดโรคในระยะรุนแรงแล้ว และเดิมเนื่องจากการไม่มีระบบการคัดกรองและการส่งต่อที่ดี ทําให้ค้นพบผู้ป่วยรายใหม่ช้าได้รับการรักษาล่าช้า และระยะของโรคลุกลามเป็นระยะที่รุนแรง ซึ่งเป็นปัจจัยสําคัญที่ทําให้เพิ่มอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยกลุ่มนี้ การผ่าตัดรักษาหลายส่วนยังเกินศักยภาพทันตแพทย์และแพทย์ผู้ดูแล ทําให้ยังต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาที่สถานบริการอื่น ไม่มีระบบการเตรียมช่องปากก่อนรับรังสีรักษาที่มีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยได้รับบริการล่าช้า และไม่มีระบบดูแลต่อเนื่องทั้งในโรงพยาบาลและระดับชุมชนทํา ให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดข้อแทรกซ้อนที่สําคัญรุนแรง ที่ทําให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากภาวะโรคเดิมที่เป็นอยู่ ซึ่งทําให้ต้องใช้การรักษาที่ยุ่งยากซับซ้อนและค่าใช้จ่ายสูง หน่วยศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียลจึงได้นําปัญหามาวิเคราะห์และเข้ามาวางระบบการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ใหม่ เพื่อให้เกิดการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งช่องปากในจังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างครบวงจรตั้งแต่การเข้าถึงการคัดกรองอย่างครอบคลุม ได้รับการส่งต่อด้วยระบบส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ ได้รับการรักษาที่ดีตามมาตรฐานวิชาชีพอย่างรวดเร็ว เป็นระบบ และได้รับการดูแลรักษาต่อเนื่องตลอดชีวิตของผู้ป่วยทั้งในระบบโรงพยาบาลจนถึงในระดับชุมชนและพัฒนาหน่วยงานเป็นศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูงสาขาสุขภาพช่องปากเพื่อรับส่งต่อผู้ป่วยมะเร็งช่องปากของเขตสุขภาพที่ 11